วันที่ 17 กันายน 2567 หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดประเด็นปัญหา “สิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชน ถูกเรียกเก็บเพิ่ม ไม่ต้องจ่าย” ณ ห้องประชุมมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ สำนักงานภาคเหนือ
ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ต้องการให้ประชาชน ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิ การรับรู้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียม
ภายใต้การทำงานของศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชน หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง (หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระ ตามมาตรา 50(5) ) องค์กรสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภค 16 องค์กร และภาคีเครือข่ายประชาชนอื่น หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยบริการในโรงพยาบาล เมื่อใดที่เกิดปัญหา ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ หรือไม่สามารถเข้ารับบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด โดยนำประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดจากข้อร้องเรียนของประชาชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่ประชาชนพึงได้ ยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการในระดับเขตนำมาสู่การพัฒนาการทำงานร่วมกับหน่วยบริการ
จากผลการดำเนินงานของหน่วย 50 (5)และศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวในปี 2567 พบว่าประชาชนที่เข้ารับบริการสาธารณสุข ประสบปัญหาการถูกเรียกเก็บค่าบริการ เช่น การร่วมจ่าย 30 บาท โดยไม่มีข้อยกเว้นตามเกณฑ์อายุที่กำหนดใน พรบ.หลักประกันสุขภาพ การเรียกเก็บค่าบริการนอกเวลาทำการ และเรียกเก็บค่าบำรุงอุปกรณ์การรักษา โดยบริการเหล่านี้จะกำหหนดสิทธิใน พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งประชาชนไม่ต้องร่วมจ่าย
ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วย 50 (5)และเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ จึงมีข้อเสนอต่อการเปิดสภาผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ มีดังนี้
- ยกเลิกการเก็บค่าบริการ ทั้งการร่วมจ่าย 30 บาท บริการนอกเวลา ค่าบำรุงอุปกรณ์การรักษาจากประชาชนที่เข้ารับบริการ
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้โรงพยาบาลรัฐขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ ER คุณภาพ โดยลดขั้นตอนและข้อจำกัดลง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในการถูกเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม
- เพิ่มการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรอบรู้เรื่องสุขภาพรอบด้าน ในการดูแลตนเองทั้งที่ป่วย และไม่ป่วย
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งดำเนินการขยายร้านยาชุมชนให้ครอบคลุมในเขตอำเภอรอบนอกเพื่อลดปัญหาการเข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาล หากเจ็บป่วยเล็กน้อย